การป้องกันโรคภูมิแพ้สำหรับคนทั่วไป ปัจจุบันโรคภูมิแพ้พบมากขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยมีอุบัติการณ์ของโรคภูมิแพ้มากขึ้น 3-4 เท่า เมื่อเทียบกับเมื่อ10 ปีก่อน โดยพบโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร้อยละ 23-30 โรคหืดร้อยละ 10-15 โรคผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ร้อยละ 15 และโรคแพ้อาหารร้อยละ 6
การพบโรคภูมิแพ้ของระบบการหายใจเพิ่มขึ้นในประเทศไทยก็เพราะวิถีของคนไทยเปลี่ยนไป ประชากรมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อยู่กันอย่างแออัด บ้านเรือนจากเดิมที่มีลักษณะโปรง โล่ง มีการถ่ายเท อากาศดีเปลี่ยนไปเป็นแบบตะวันตกมากขึ้น มีเพดานเตี้ยประดับประดาไปด้วยเครื่องเรือน ปิดหน้าต่างตลอดเวลา เปิดเครื่องปรับอากาศ ภายในห้องมีพรมซึ่งมีไรฝุ่นมาก มีต้นไม้ประดับซึ่งมีเชื้อรา นิยมเลี้ยงสุนัข แมวในบ้าน บางคนถึงกับเอาไปนอนด้วย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่เราสูดหรือสัมผัสเข้าสู่ร่างกายตลอดเวลายิ่งกระตุ้นให้ร่างกายเกิดอาการแพ้ขึ้น
อาการต่างไป…เมื่อร่างกายตอบสนองเกิดภูมิแพ้ต่างกัน
โรคภูมิแพ้ เป็นกลุ่มโรคที่แสดงอาการได้ในหลายระบบของร่างกาย เช่น โรคเยื่อบุจมูกอักเสบภูมิแพ้ หรือโรคภูมิแพ้อากาศ โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้อาหาร ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง รวมถึงผื่นลมพิษเรื้อรัง ซึ่งมีอาการแสดงแตกต่างกันไป คือ
อาการแสดงทางระบบทางเดินหายใจ เช่น จาม มีน้ำมูก คัดจมูก คันจมูก คันตา เคืองตา ตาแดง น้ำมูกไหลลงคอ เป็นหวัดบ่อย เป็นหวัดเรื้อรัง หูอื้อ ไอ หายใจหอบ ไอมากตอนกลางคืน ไอหลังออกกำลังกาย หายใจมีเสียงวี้ด นอนกรน มีเลือดกำเดาไหล
อาการแสดงทางผิวหนัง เช่น ผื่นแดงตามใบหน้าและลำตัว ผื่นลมพิษเป็นๆ หายๆ ผิวหนังแห้ง คันตามผิวหนัง
อาการแสดงทางระบบทางเดินอาหาร เช่น มีอาการอาเจียน สำรอก ปวดท้อง ถ่ายเหลว
อาการแสดงในระบบอื่น เช่น ปวดศีรษะ นอนหลับไม่สนิท อ่อนเพลีย
ซึ่งอาการต่างๆ ดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวันได้
สาเหตุของโรคภูมิแพ้เกิดได้จากทั้งกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม
เกิดจากกรรมพันธุ์ โดยพบว่า ถ้าพ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้ จะทำให้ลูกมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณร้อยละ 30-50 แต่ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกก็จะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้นถึงร้อยละ 50-70 ส่วนเด็กที่ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัวเลย มีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้เพียงร้อยละ 10
เกิดจากสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญ เพราะสารก่อภูมิแพ้ที่เข้าสู่ร่างกายของเรา เกิดจากสภาพแวดล้อมซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น การหายใจ การรับประทานอาหาร หรือการสัมผัสสารต่างๆ สารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อย ได้แก่ ไรฝุ่น ละอองเกสร วัชพืช ขนสุนัข ขนแมว แมลงสาบ เชื้อรา อาหารบางชนิด เช่น นมวัว ไข่ แป้งสาลี อาหารทะเล นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งเสริมให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้ ได้แก่ อากาศเปลี่ยน การสัมผัสสารระคายเคือง เช่น ควันธูป ควันบุหรี่ ควันท่อไอเสีย มลพิษทางอากาศ PM 2.5
การรักษาโรคภูมิแพ้
หากมีอาการของโรคภูมิแพ้ คนไข้ควรได้รับการตรวจหาสาเหตุว่าเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ตัวใด เพื่อหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุ ก็จะทำให้อาการของโรคภูมิแพ้ดีขึ้นได้ โดยการตรวจหาสารก่อภูมิแพ้สามารถตรวจได้ 2 วิธีด้วยกัน คือ
การตรวจหาสารก่อภูมิแพ้โดยการสะกิดผิวหนัง (สามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป)
การตรวจหาสารก่อภูมิแพ้โดยการเจาะเลือด
และเมื่อทราบสาเหตุของการเป็นโรคภูมิแพ้แล้ว ควรรับการรักษาและติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง โดยเทคนิคการรักษาโรคภูมิแพ้ให้ได้ผลดีนั้นมีหลายวิธี เช่น
หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ แม้จะใช้ยารักษาภูมิแพ้แล้ว แต่หากไม่หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ก็ยังทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบต่อไปได้
ใช้ยารักษาสม่ำเสมอต่อเนื่อง และใช้ยาให้ถูกวิธี เนื่องจากโรคภูมิแพ้ทางอากาศ มียาที่ใช้รักษาหลายตัว ทั้งยาชนิดรับประทานและยาพ่น การใช้ยาสม่ำเสมอและถูกวิธีจะทำให้อาการภูมิแพ้ดีขึ้นได้
ดูแลร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ
รักษาโรคร่วม เช่น โรคไซนัสอักเสบ โรคอ้วน
แม้ว่าโรคภูมิแพ้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เราสามารถควบคุมโรคไม่ให้มีอาการหรือมีอาการน้อยที่สุดได้ เพราะฉะนั้นหากมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคภูมิแพ้ ควรตรวจหาสาเหตุและรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น